วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1), 42(1)(13)

ประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1), 42(1)(13)

โจทย์ นายแดงทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัท อุปกรณ์การแพทย์ จำกัด ได้รับเงินเดือนๆ ละ 20,000 บาท นายแดงได้นำรถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แบบเหมาจ่ายให้แก่นายแดงเดือนละ 4,000 บาท โดยมิได้คำนึงว่านายแดงจะได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นหรือไม่ และไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดงแก่บริษัทแต่อย่างใด ในปีภาษี 2551 นายแดงได้รับเงินค่าน้ำมันจากบริษัทฯ เป็นเงินรวมตลอดทั้งปีจำนวน 48,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2551 รถยนต์ของนายแดงถูกนายเขียวขับชนโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของนายแดงได้รับความเสียหาย แต่นายแดงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย นายแดงจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของนายเขียวเพื่อเป็นค่าซ่อมรถยนต์และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินได้ที่นายแดงได้รับทั้งสองจำนวนจะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
       ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) วางหลักว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอด ถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภท ต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ว่าในทอดใด
       (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงิน ที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน”
        ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (1)(13) วางหลักว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้อง รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
        (1) ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้ใช้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
(13) ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเงินที่ได้จากการประกันภัยหรือ การฌาปนกิจสงเคราะห์
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา บุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีนั้น เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมายื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษี เว้นแต่เงินได้พึงประเมินนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 42 ยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษี ก็ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี
การที่บริษัทฯ ได้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แบบเหมาจ่ายให้แก่นายแดงเดือนละ 4,000 บาท โดยในปีภาษี 2551 นายแดงได้รับเงินค่าน้ำมันจากบริษัทฯ เป็นเงินรวมตลอดทั้งปีจำนวน 48,000 บาทนั้น เงินจำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1)
และเงินได้ดังกล่าวก็ไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) เพราะเงินค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) จะต้องพาหนะซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้ใช้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น แต่ค่าพาหนะคือค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่นายแดงซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ที่นำรถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ มีลักษณะเป็นการเหมาจ่ายแก่นายแดงโดยมิได้คำนึงว่านายแดงจะได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นหรือไม่ เงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทเหมาจ่ายให้แก่นายแดงจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1) ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) ดังนั้น นายแดงจึงต้องนำเงินค่าน้ำมันรถยนต์จำนวน 48,000 บาท ไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่นายแดงได้รับจากการทำละเมิดของนายเขียวเพื่อเป็นค่าซ่อมรถยนต์และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 40,000 บาทนั้น เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดจึงได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(13) ดังนั้น นายแดงจึงไม่ต้องนำเงินจำนวน 40,000 บาท มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สรุป เงินค่าน้ำมันรถยนต์ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(1) เพราะไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42(1) ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 42(13)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น