วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ

โจทย์ นายทวีได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ต่อมาใน พ.ศ. 2547 นายทวีได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายอาทิตย์โดยมอบใบจองและที่ดินให้นายอาทิตย์ครอบครอง ใน พ.ศ. 2550 นายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดินจากราชการ ขณะนี้นายอาทิตย์ต้องการจะโอนที่ดินแปลงนั้นให้แก่นายศุกร์บุตรชาย ดังนี้ อยากทราบว่านายอาทิตย์จะโอนที่ดินในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
        พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง วางหลักว่า “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองแต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก”
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วางหลักว่า “เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วแต่กรณีให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
1)                   ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
2)                 ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี
3)                  ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำหรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (2) และ (3) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา การที่นายทวีได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินโดยรัฐจัดที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยให้แก่ประชาชน โดยทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2542 นั้น ถือว่านายทวีเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง แต่เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว นายทวีจึงจะโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง
ดังนั้น เมื่อต่อมาใน พ.ศ. 2547 นายทวีได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายอาทิตย์ โดยมอบใบจองที่ดินและที่ดินให้นายอาทิตย์ครอบครอง ก็ไม่ทำให้นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพราะผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินโดยมีหนังสือ แสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่การยกที่ดินตีใช้หนี้โดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันนั้น มีผลทำให้นายอาทิตย์เป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการ ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเพราะฉะนั้นการที่นายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการใน พ.ศ. 2550 นั้น จึงเป็นกรณีที่นายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดินจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3)
เมื่อนายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดินมาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3) นายอาทิตย์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า กล่าวคือ ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินนายอาทิตย์จะโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
ดังนั้น หากขณะนี้นายอาทิตย์จะโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายศุกร์บุตรชาย นายอาทิตย์จึงไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า และการโอนในกรณีนี้ก็ไม่ใช่การตกทอดทางมรดก
สรุป นายอาทิตย์จะโอนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ เพราะการที่นายอาทิตย์ได้รับโฉนดที่ดิน เมื่อ พ.ศ. 2550 เป็นการได้รับตามประมวลที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3) จึงถูกห้ามโอนมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิวรรคห้าและการโอนในกรณีก็ไม่ใช่การตกทอดทางมรดก

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง

โจทย์ นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีโฉนดที่ดินและที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย ขณะนี้บุคคลทั้งสองต้องการจะจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปจังหวัดเลย นายหนึ่งกับนายสองจึงได้นำโฉนดที่ดินและเอกสารหลักฐานสำหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยทำการจดทะเบียนให้ ดังนี้ อยากทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการตามคำขอให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง วางหลักว่า “การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง สำหรับที่ดินมีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวนหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์คู่กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดำเนินการจดทะเบียนให้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้องมีการรังวัด”
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างสำนักงานที่ดิน เพื่อให้ส่งเรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71 ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ ดังนี้
1.        ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
2.      การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน
3.       การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน
เมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการให้ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีโฉนดที่ดินและที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย และนายหนึ่งกับนายสองต้องการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่นายหนึ่งกับนายสองไม่สะดวกที่จะเดินทางไปที่จังหวัดเลย จึงได้นำโฉนดที่ดินและเอกสารหลักฐานสำหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยทำการจดทะเบียนให้
กรณีดังกล่าว แม้ที่ดินของนายหนึ่งกับนายสองจะเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ตามหลักเกณฑ์ในข้อที่ 1 และการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมก็ไม่ต้องมีการประกาศก่อน ตามหลักเกณฑ์ในข้อที่ 2 ก็ตาม แต่การจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมก็ไม่ต้องมีการประกาศก่อน ดังนั้นจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ในข้อที่ 3 เมื่อไม่ครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการ นายหนึ่งกับนายสองจึงไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างสำนักงานที่ดิน เพื่อให้ส่งเรื่องให้สำนักงานที่ดินที่มีอำนาจทำการจดทะเบียนให้ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจึงรับดำเนินการตามคำขอให้ไม่ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 72 วรรคสอง
สรุป พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการตามคำขอให้ไม่ได้ เพราะการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นการจดทะเบียนที่ต้องมีการรังวัดก่อน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 ตรี, 59 ทวิ

โจทย์ นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ในพ.ศ. 2538 ได้มีประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน นายเพชรได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ใน พ.ศ. 2544 นายเพชรได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายเงิน นายเงินได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ขณะนี้นายเงินได้ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่านายเงินจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย   
        ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 ตรี วางหลักว่า “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตร 58 วรรคสอง ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น
        เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
        ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วางหลักว่า “ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วแต่กรณีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
        เพื่อประแห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
วินิจฉัย
        กรณีปัญหา ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายไว้ ดังนี้
1.                    ใช้กับผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย
2.                  ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี หมายความว่า ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี จะไปขออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิไม่ได้
3.                   มีความจำเป็น
4.                  พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร
5.                   ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แล้วแต่กรณี
6.                   เนื้อที่ต้องไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินนายเพชรจึงเป็นผู้ครอบครองโดลพลการก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เพราะประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น เมื่อนายเพชรได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแล้ว ถือว่านายเพชรเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว แม้นายเพชรจะไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงทำให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ตามมาตรา 58 วรรคสามก็ตาม เมื่อนายเพชรมิใช่ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี นายเพชรจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามมาตรา 59 ทวิ วรรคแรก
และเมื่อใน พ.ศ. 2544 นายเพชรได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายเงิน นายเงินได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา การครอบครองและทำประโยชน์ของนายเงินจึงเป็นการครอบครองต่อเนื่องจากนายเพชร นายเงินจึงเป็นบุคคลตามมาตรา 59 ทวิ วรรคสอง เพราะฉะนั้นนายเงินจึงขอโฉนดที่ดินได้ ตามมาตรา 59 ทวิ
สรุป นายเงินขออกโฉนดที่ดินได้ เพราะนายเงินเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องจากนายเพชรซึ่งเป็นครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี และมาตรา 59 ทวิ

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประมวลรัษฎากรมาตรา 67

ประมวลรัษฎากรมาตรา 67
โจทย์ Marine Shipping & Transportation Corporation (Marine Corp) เป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศโดยทางเรือ มีสาขาตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย บริษัท ไทยนำสินฟู้ดโปรดักส์ จำกัด (ไทยนำสิน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารฮาลาล ไทยนำสินได้ขายสินค้าอาหารให้แก่ผู้ซื้อในประเทศกาตาร์จึงได้ว่าจ้างให้ Marine Corp สาขามาเลเซียขนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศกาตาร์ โดยไทยนำสินได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวทางรถบรรทุกไปส่งมอบให้แก่ Marine Corp ในประเทศมาเลเซีย Marine Corp ได้คิดค่าบริการในการขนส่งดังกล่าวจำนวน 10 ล้านบาท อยากทราบว่า Marine Corp ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายของค่าบริการรับของตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
       ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 วางหลักว่า “การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ให้เสียตามอัตราที่กำหนดไว้ ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตาม มาตรา 66 วรรคสอง กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีรับขนคนโดยสารให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดย สาร ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักราย จ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น
(2) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น
วินิจฉัย
        กรณีตามปัญหา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในอื่นๆ รวมทั้งในประเทศและกิจการที่กระทำนั้นเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ การคำนวณภาษีเงินได้ต้องคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร คือ ถ้าเป็นการรับขนของต้องเสียในรายได้อันเกิดจากค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใดๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น โดยคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 3
        ดังนั้นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีนี้จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
1.        เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจดทะเบียนในต่างประเทศ
2.      เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย และ
3.       กิจการที่ประกอบนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ
ตามปัญหา แม้ Marine Corp จะเป็นบริษัทที่จะทะเบียนตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อ Marine Corp มีสาขาอยู่ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียโดยไม่ปรากฏว่า Marine Corp จึงไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเทศไทยแต่อย่างใดเลย ดังนั้น Marine Corp จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากค่าบริการรับขนของดังกล่าว เพราะกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ Marine Corp ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าค่าบริการที่ Marine Corp ได้รับเป็นกรณีเนื่องจากการรับขนของออกไปจากประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้น Marine Corp จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายของค่าบริการรับขนของตามประมวลรัษฎากร
สรุป Marine Corp ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการขนส่งระว่างประเทศจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายของค่าบริการรับขนของ เพราะไม่ได้มีสาขาหรือประกอบกิจการใดๆ ในประเทศไทยเลย จึงไม่ต้องด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 67

ประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1), 42(1)(13)

ประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (1), 42(1)(13)

โจทย์ นายแดงทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัท อุปกรณ์การแพทย์ จำกัด ได้รับเงินเดือนๆ ละ 20,000 บาท นายแดงได้นำรถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แบบเหมาจ่ายให้แก่นายแดงเดือนละ 4,000 บาท โดยมิได้คำนึงว่านายแดงจะได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นหรือไม่ และไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดงแก่บริษัทแต่อย่างใด ในปีภาษี 2551 นายแดงได้รับเงินค่าน้ำมันจากบริษัทฯ เป็นเงินรวมตลอดทั้งปีจำนวน 48,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2551 รถยนต์ของนายแดงถูกนายเขียวขับชนโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของนายแดงได้รับความเสียหาย แต่นายแดงได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย นายแดงจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของนายเขียวเพื่อเป็นค่าซ่อมรถยนต์และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินได้ที่นายแดงได้รับทั้งสองจำนวนจะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
       ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) วางหลักว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอด ถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภท ต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ว่าในทอดใด
       (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงิน ที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน”
        ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (1)(13) วางหลักว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้อง รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
        (1) ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้ใช้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
(13) ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเงินที่ได้จากการประกันภัยหรือ การฌาปนกิจสงเคราะห์
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา บุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีนั้น เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมายื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษี เว้นแต่เงินได้พึงประเมินนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 42 ยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษี ก็ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี
การที่บริษัทฯ ได้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แบบเหมาจ่ายให้แก่นายแดงเดือนละ 4,000 บาท โดยในปีภาษี 2551 นายแดงได้รับเงินค่าน้ำมันจากบริษัทฯ เป็นเงินรวมตลอดทั้งปีจำนวน 48,000 บาทนั้น เงินจำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1)
และเงินได้ดังกล่าวก็ไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) เพราะเงินค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) จะต้องพาหนะซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้ใช้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น แต่ค่าพาหนะคือค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่นายแดงซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ที่นำรถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ มีลักษณะเป็นการเหมาจ่ายแก่นายแดงโดยมิได้คำนึงว่านายแดงจะได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นหรือไม่ เงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่บริษัทเหมาจ่ายให้แก่นายแดงจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1) ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) ดังนั้น นายแดงจึงต้องนำเงินค่าน้ำมันรถยนต์จำนวน 48,000 บาท ไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่นายแดงได้รับจากการทำละเมิดของนายเขียวเพื่อเป็นค่าซ่อมรถยนต์และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 40,000 บาทนั้น เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดจึงได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(13) ดังนั้น นายแดงจึงไม่ต้องนำเงินจำนวน 40,000 บาท มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สรุป เงินค่าน้ำมันรถยนต์ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(1) เพราะไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42(1) ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 42(13)

ประมวลรัษฎากรมาตรา 65, 66

ประมวลรัษฎากรมาตรา 65, 66

โจทย์ บริษัทการบินไทย จำกัด ดำเนินกิจการขนส่งระหว่างประเทศโดยในรอบระยะเวลาบัญชี 2552 บริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบกิจการ ดังนี้
        1 ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 1,200 ล้านบาท กรณีนี้เรียกเก็บเงินในต่างประเทศทั้งหมด
        2. ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าออกไปจากประเทศไทย จำนวน 1,200 ล้านบาท กรณีนี้เรียกเก็บในประเทศไทยทั้งหมด
        3. มีรายได้จากการขายของที่ระลึกในประเทศไทย จำนวน 100 ล้านบาท
        จงวินิจฉัยภาระภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
วางหลักกฎหมาย
       ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้ คือ กำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”
        ประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
วินิจฉัย
        กรณีตามปัญหา ต่ามหลักกฎหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นเงินได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำ ณ ที่ใดไม่ว่าจะในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักรก็ตาม ต้องนำรายได้เหล่านั้นทั้งหมดมาเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้กับประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรทั้งสิ้น
        เงินได้จากกิจการ หมายถึง เงินได้อันเกิดจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัท เช่น รายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามปกติ
        เงินได้เนื่องจากกิจการ หมายถึง เงินได้ใดๆ ที่มิได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติของบริษัท เช่น เงินได้จากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการ
        เมื่อบริษัท การบินไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และในรอบระยะเวลาบัญชี 2552 บริษัทดังกล่าวมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 1,200 ล้านบาท การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าออกไปจากประเทศไทย จำนวน 1,200 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายของที่ระลึกในประเทศไทย จำนวน 100 ล้านบาท รายได้ทั้งหมด 2,500 ล้านบาท จึงเป็นรายได้จากกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด
        เพราะฉะนั้น เมื่อบริษัท การบินไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีเงินได้จากกิจการ 2,500 ล้านบาท จึงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 65 และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นเงินได้จากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ไม่ว่าจะได้รับเงินได้นั้นในประเทศหรือต่างประเทศ
        สรุป บริษัท การบินไทย จำกัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ทั้งหมดที่ได้รับตามข้อ (1) (2) (3) ให้กับประเทศไทย เพราะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีเงินได้จากกิจการทั้งนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประมวลรัษฎากรมาตรา 41

ประมวลรัษฎากรมาตรา 41

โจทย์ บริษัท เหลืองแดงเขียว จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองซึ่งมีสัญชาติไทยให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทางบริษัทฯ ได้ว่าจ้างนางเขียวซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปยังประเทศมาเลเซีย
        นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ตกลงจ้างนางสาวแดงซึ่งเป็นนายหน้าอิสระสัญชาติไทย (ไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัท) ให้ทำน้าที่นายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ตกลงจะโอนเงินให้นางสาวแดงที่ประเทศไทย หากปรากฎข้อเท็จจริงว่า นอกจากนางเขียว กรณีนายเหลืองและนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้แต่อย่างใด จงวินิจฉัยว่าทั้งสามคนนี้มีภาระภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
        ประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วางหลักว่า “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
        ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตร 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญยัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
        ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
วินิจฉัย
        กรณีตามปัญหา ตามหลักกฎหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่งนั้น กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศไทย ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เสมอ เมื่อเงินได้พึงประเมินนั้นเกิดขึ้นเนื่องจาก
        1. หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
        2. กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
        3. กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
        4. ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
        ดังนั้น ตามปัญหาการที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองซึ่งมีสัญชาติไทยให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทางบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปเข้าบัญชีของนายเหลืองในต่างประเทศ นายเหลืองมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าจ้างที่ได้รับจากสำนักงานบริษัทฯ ในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย เพราะเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร
        ส่วนนางเขียวนั้นบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี นางเขียวก็มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าจ้างที่ได้รับจากสำนักงานบริษัทฯ ในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้กับประเทศไทย เพราะเงินได้ดังกล่าวเกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย แม้เงินได้นั้นจะได้รับในต่างประเทศก็ต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร
        ส่วนกรณีของนางสาวแดงนั้น ตามหลักกฎหมายรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสามกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศ มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
        1. ต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และ
          2. มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจาก
                   (1) หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
                   (2) กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
                   (3) ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
          3. ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับที่อยู่ในประเทศไทย
          การที่นางสาวแดงเป็นนายหน้าอิสระทำหน้าที่นายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ตกลงจะโอนเงินให้นางสาวแดงที่ประเทศไทยนั้น นางสาวแดงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินได้นั้นให้กับประเทศไทย เพราะแม้นางสาวแดงจะมีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย แต่นางสาวแดงมิใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินได้ดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคสอง และวรรคสาม
          สรุป  นายเหลืองมีภาระภาษีในประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้จากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
          นางเขียวมีภาระภาษีในประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
          ส่วนนางสาวแดงไม่มีภาระภาษีในประเทศไทย เพราะมิใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคส่าม