วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประมวลรัษฎากรมาตรา 41

ประมวลรัษฎากรมาตรา 41

โจทย์ บริษัท เหลืองแดงเขียว จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองซึ่งมีสัญชาติไทยให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทางบริษัทฯ ได้ว่าจ้างนางเขียวซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปยังประเทศมาเลเซีย
        นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ตกลงจ้างนางสาวแดงซึ่งเป็นนายหน้าอิสระสัญชาติไทย (ไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัท) ให้ทำน้าที่นายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ตกลงจะโอนเงินให้นางสาวแดงที่ประเทศไทย หากปรากฎข้อเท็จจริงว่า นอกจากนางเขียว กรณีนายเหลืองและนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้แต่อย่างใด จงวินิจฉัยว่าทั้งสามคนนี้มีภาระภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
        ประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วางหลักว่า “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
        ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตร 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญยัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
        ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
วินิจฉัย
        กรณีตามปัญหา ตามหลักกฎหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่งนั้น กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศไทย ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เสมอ เมื่อเงินได้พึงประเมินนั้นเกิดขึ้นเนื่องจาก
        1. หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
        2. กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
        3. กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
        4. ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
        ดังนั้น ตามปัญหาการที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองซึ่งมีสัญชาติไทยให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทางบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปเข้าบัญชีของนายเหลืองในต่างประเทศ นายเหลืองมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าจ้างที่ได้รับจากสำนักงานบริษัทฯ ในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย เพราะเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร
        ส่วนนางเขียวนั้นบริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี นางเขียวก็มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าจ้างที่ได้รับจากสำนักงานบริษัทฯ ในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้กับประเทศไทย เพราะเงินได้ดังกล่าวเกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย แม้เงินได้นั้นจะได้รับในต่างประเทศก็ต้องเสียภาษีให้ประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศตามมาตรา 41 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร
        ส่วนกรณีของนางสาวแดงนั้น ตามหลักกฎหมายรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสามกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศ มีหน้าที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อครบองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
        1. ต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และ
          2. มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจาก
                   (1) หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
                   (2) กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
                   (3) ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
          3. ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับที่อยู่ในประเทศไทย
          การที่นางสาวแดงเป็นนายหน้าอิสระทำหน้าที่นายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ตกลงจะโอนเงินให้นางสาวแดงที่ประเทศไทยนั้น นางสาวแดงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินได้นั้นให้กับประเทศไทย เพราะแม้นางสาวแดงจะมีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย แต่นางสาวแดงมิใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเงินได้ดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคสอง และวรรคสาม
          สรุป  นายเหลืองมีภาระภาษีในประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้จากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
          นางเขียวมีภาระภาษีในประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
          ส่วนนางสาวแดงไม่มีภาระภาษีในประเทศไทย เพราะมิใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคส่าม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น