โจทย์ นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ในพ.ศ. 2538 ได้มีประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน นายเพชรได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้ไปนำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดที่ดินจึงไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ใน พ.ศ. 2544 นายเพชรได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายเงิน นายเงินได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ขณะนี้นายเงินได้ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่านายเงินจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 ตรี วางหลักว่า “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตร 58 วรรคสอง ผู้ครองครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ วางหลักว่า “ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วแต่กรณีได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
เพื่อประแห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
วินิจฉัย
กรณีปัญหา ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายไว้ ดังนี้
1. ใช้กับผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย
2. ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี หมายความว่า ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี จะไปขออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิไม่ได้
3. มีความจำเป็น
4. พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร
5. ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แล้วแต่กรณี
6. เนื้อที่ต้องไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเพชรครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2493 โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินนายเพชรจึงเป็นผู้ครอบครองโดลพลการก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เพราะประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น เมื่อนายเพชรได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแล้ว ถือว่านายเพชรเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว แม้นายเพชรจะไม่ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดที่ดินจึงทำให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ตามมาตรา 58 วรรคสามก็ตาม เมื่อนายเพชรมิใช่ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี นายเพชรจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามมาตรา 59 ทวิ วรรคแรก
และเมื่อใน พ.ศ. 2544 นายเพชรได้ยกที่ดินแปลงนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นายเงิน นายเงินได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา การครอบครองและทำประโยชน์ของนายเงินจึงเป็นการครอบครองต่อเนื่องจากนายเพชร นายเงินจึงเป็นบุคคลตามมาตรา 59 ทวิ วรรคสอง เพราะฉะนั้นนายเงินจึงขอโฉนดที่ดินได้ ตามมาตรา 59 ทวิ
สรุป นายเงินขออกโฉนดที่ดินได้ เพราะนายเงินเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องจากนายเพชรซึ่งเป็นครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี และมาตรา 59 ทวิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น