โจทย์ นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีโฉนดที่ดินและที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย ขณะนี้บุคคลทั้งสองต้องการจะจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแต่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปจังหวัดเลย นายหนึ่งกับนายสองจึงได้นำโฉนดที่ดินและเอกสารหลักฐานสำหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยทำการจดทะเบียนให้ ดังนี้ อยากทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการตามคำขอให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
วางหลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง วางหลักว่า “การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง สำหรับที่ดินมีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวนหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์คู่กรณีอาจยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดำเนินการจดทะเบียนให้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศหรือต้องมีการรังวัด”
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างสำนักงานที่ดิน เพื่อให้ส่งเรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71 ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ ดังนี้
1. ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
2. การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน
3. การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน
เมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการให้ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีโฉนดที่ดินและที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย และนายหนึ่งกับนายสองต้องการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่นายหนึ่งกับนายสองไม่สะดวกที่จะเดินทางไปที่จังหวัดเลย จึงได้นำโฉนดที่ดินและเอกสารหลักฐานสำหรับใช้ประกอบการจดทะเบียนไปยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเลยทำการจดทะเบียนให้
กรณีดังกล่าว แม้ที่ดินของนายหนึ่งกับนายสองจะเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ตามหลักเกณฑ์ในข้อที่ 1 และการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมก็ไม่ต้องมีการประกาศก่อน ตามหลักเกณฑ์ในข้อที่ 2 ก็ตาม แต่การจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมก็ไม่ต้องมีการประกาศก่อน ดังนั้นจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ในข้อที่ 3 เมื่อไม่ครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการ นายหนึ่งกับนายสองจึงไม่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างสำนักงานที่ดิน เพื่อให้ส่งเรื่องให้สำนักงานที่ดินที่มีอำนาจทำการจดทะเบียนให้ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจึงรับดำเนินการตามคำขอให้ไม่ได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 72 วรรคสอง
สรุป พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดำเนินการตามคำขอให้ไม่ได้ เพราะการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นการจดทะเบียนที่ต้องมีการรังวัดก่อน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 72 วรรคสอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น