โจทย์ นายวิชัยกับนางสร้อยทองเป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือเด็กชายแก่นอายุ 8 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาซึ่งนายวิชัยได้จดทะเบียนรับรองเด็กชายแก่นเรียบร้อยแล้วและได้อุปการะเลี้ยงดูตลอดมา
นายวิชัยทำงานอยู่ธนาคารแห่งหนึ่งต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2551 นายวิชัยได้จดทะเบียนสมรสกับนางลัดดาได้แยกยื่นแบบแสสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 91) สำหรับเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับ โดยนายวิชัยได้นำเด็กชายแก่นบุตรของตนมาหักค่าลดหย่อน 17,000 บาท ตามที่เคยยื่นในปีภาษี 2551 ซึ่งนางลัดดามีความประสงค์จะนำเด็กชายแก่นบุตรของนายวิชัยสามีมาหักลดหย่อนด้วย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายวิชัยนำบุตรของตนมาหักลดหย่อน 17,000 บาท ชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่ และนางลัดดาจะนำบุตรของนายวิชัยมาหักลดหย่อนในส่วนของตนได้หรือไม่เพียงใด จงอธิบาย
หลักกฎหมาย
ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 วางหลักว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน้จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระและเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน”
ประมวลรัษฎากร มาตรา 47(1)(ค) วางหลักว่า “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนให้สำหรับ
(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย”
ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 เบญจ วรรคหนึ่ง, วรรคสอง (2) วางหลักว่า “ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่ ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรีก็ได้
ในกรณีที่ภริยาแยกยื่นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ดังนี้
(2) สำหรับบุตรที่หักลดหย่อนได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 47(1)ค) และ (ฉ) คนละกึ่งหนึ่ง
วินิจฉัย
การที่นายวิชัยได้จดทะเบียนสมรสกับนางลัดดาซึ่งนางลัดดาทำงานแล้วนายวิชัยและนางลัดดาได้แยกยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับ นายวิชัยและนางลัดดาสามารถทำได้ เพราะถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) โดยมิให้ถือว่าเป็นของสามีตามมาตรา 57 ตรีก็ได้ ทั้งนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 57 เบญจ วรรคหนึ่ง
เมื่อนายวิชัยและนางลัดดาต่างแยกยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับนายวิชัยและนางลัดดาจึงต้องนำเด็กชายแก่นบุตรชายของนายวิชัยมาหักลดหย่อนได้คนละกึ่งหนึ่งคือคนละ 8,500 บาท ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 57 เบญจ วรรคสอง (2)
กรณีดังกล่าวแม้เด็กชายแก่นจะเป็นบุตรชอบด้วยกฝำหมายของนายวิชัยคนเดียวเพราะนายวิชัยได้จดทะเบียนรับรองเด็กชายแก่นเป็นบุตรและได้อุปการะเลี้ยงดูตลอดมาก็ตามแต่ประมวลรัษฎากรมาตรา 47(1)(ค) ก็ให้สิทธิแก่นางลัดดาที่จะนำบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายวิชัยสามีมาหักลดหย่อนด้วยได้
ดังนั้นเมื่อนางลัดดามีความประสงค์จะนำเด็กชายแก่นบุตรของนายวิชัยสามีมาหักลดหย่อนด้วย นายวิชัยและนางลัดดาจึงต้องนำเด็กชายแก่นมาหักลดหย่อนได้คนละ 8,500 บาท ตามมาตรา 57 เบญจ วรรคสอง (2) การที่นายวิชัยนำเด็กชายแก่นมาหักลดหย่อนเต็มจำนวน 17,000 บาทจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 57 เบญจ วรรคหนึ่ง นางลัดดาก็สามารถนำบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีมาหักลดหย่อนได้ในส่วนของตนตามมาตรา 47(1)(ค) กึ่งหนึ่งคือ 8,500 บาท ตามมาตรา 57 เบญจ วรรคสอง(2) (เทียบคำพิพาทษาฎีกาที่ 368/2543)
สรุป นายวิชัยนำบุตรของตนมาหักลดหย่อน 17,000 บาท ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรเพราะนายวิชัยหักได้แค่กึ่งหนึ่ง และนางลัดดานำบุตรของนายวิชัยมาหักลดหย่อนได้กึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(1), 47(1)(ค) และมาตรา 57 เบญจ
“ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่ ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรีก็ได้
ตอบลบคำถาม คำว่าก็ได้ นี้หมายความว่า จะรวมกับสามี หรือไม่รวมก็ได้ใช่ไหมครับ